ฉลากเครื่องสำอาง
หากใครกำลังอยากเริ่มทำแบรนด์ เครื่องสำอาง อาจกำลังมีคำถามว่า ฉลากเครื่องสำอาง ต้องมีอะไรบ้าง? ตามที่กฎหมายนั้นกำหนด ซึ่งกฎหมายที่จะกล่าวถึง ต่อไปนี้จะเป็นกฎหมายที่เพิ่มขึ้นมา ตามประกาศ คณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง ฉลากของเครื่องสำอาง ที่ประกาศออกมาใน พ.ศ. 2562
นิยามคำว่า “ฉลาก” ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 หมายความว่า รูปรอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ เกี่ยวกับเครื่องสำอาง ซึ่งแสดงไว้ที่เครื่องสำอาง ภาชนะบรรจุ หีบห่อ สอดแทรก หรือรวมไว้กับเครื่องสำอาง ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อ และให้หมายความ รวมถึงเอกสาร หรือคู่มือ สำหรับใช้ประกอบกับเครื่องสำอาง
ฉลากเครื่องสำอาง ที่ขายในประเทศต้องระบุข้อความ ดังนี้
- ชื่อเครื่องสำอาง และชื่อทางการค้าของเครื่องสำอาง ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่น
- ประเภท หรือชนิดของเครื่องสำอาง
- ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้ เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งจะต้องเป็นชื่อตามตำราที่สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา ประกาศกำหนด จะต้องเรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย กรณีสีที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง หรือสารที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าร้อยละ 1 ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ แต่ให้ชื่อสารเหล่านั้นอยู่ถัดจากสารที่มีความเข้มข้นมากกว่าร้อยละ 1
- วิธีใช้
- ชื่อ ที่ตั้งของผู้ผลิต กรณีเป็นเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศ ชื่อ ที่ตั้งของผู้นำเข้า ชื่อผู้ผลิต และประเทศที่ผลิต กรณีที่เป็นเครื่องสำอางนำเข้า
- ปริมาณสุทธิ
- เลขที่ หรือ อักษรแสดงครั้งที่ผลิต
- เดือน ปีที่ผลิต หรือ ปี เดือน ที่ผลิต
- เดือน ปี ที่หมดอายุ หรือ ปี เดือน ที่หมดอายุ
- คำเตือน เกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่ออนามัยของบุคคล ตามประกาศคณะกรรมการ เครื่องสำอางว่าด้วยเรื่องคำเตือน หรือข้อความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ( ถ้ามี )
- เลขที่ใบรับจดแจ้ง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา ประกาศกำหนด

ฉลากเครื่องสำอาง ที่ขายในประเทศต้องใช้ข้อความภาษาไทย และมีขนาดที่สามารถอ่านได้ชัดเจน
อาจมีข้อความอื่น หรือมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ ยกเว้นชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง อาจใช้ภาษาไทย หรือเขียนภาษาไทยทับศัพท์ภาษาอังกฤษ หรือใช้ภาษาอังกฤษ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ (ฉลากเครื่องสำอางต้องยืนพื้นว่าต้องใช้ข้อความภาษาไทยเป็นหลัก และต้องอ่านได้ชัดเจน)
การแสดงสารส่วนประกอบ การแสดงสารที่เป็นอนุภาค “ nano ” ในกรณีที่มีการใช้สารอนุภาค nano
เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ให้ระบุข้อความ “ nano ” ต่อท้ายชื่อสาร เช่น Titanium dioxide ( nano ), Tris-biphenyl triazine ( nano ) เป็นต้น โดยในขั้นตอนการจดแจ้ง ผู้จดแจ้งจะต้องแนบเอกสารสนับสนุนว่า วัตถุดิบดังกล่าว ที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมนั้นมีขนาดอนุภาคเท่ากับ หรือเล็กกว่า 100 นาโนเมตร เช่น Specification, Certificate of analysis เป็นต้น
การแสดง วัน เดือน ปี ที่หมดอายุ
หมายถึง วันหมดอายุ ของเครื่องสำอางที่ยังไม่ได้เปิดใช้เท่านั้น ซึ่งจะขอชี้แจงรายละเอียดการแสดงวันหมดอายุของเครื่องสำอาง
โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- เครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า ๓๐ เดือน เครื่องสำอางที่มีวันหมดอายุน้อยกว่า 30 เดือนนับจากวันที่ผลิต ต้องแสดงวันหมดอายุที่ฉลากของเครื่องสำอางทุกผลิตภัณฑ์
- เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมรายการสารดังต่อไปนี้ ต้องแสดงวันหมดอายุที่ฉลากของเครื่องสำอาง ไม่ว่าเครื่องสำอางนั้น จะมีอายุการใช้น้อยกว่า หรือมากกว่า 30 เดือนก็ตาม ได้แก่ เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของ Hydrogen peroxide ,เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่มีส่วนผสมของ Avobenzone
- เครื่องสำอางที่มีอายุการใช้มากกว่า 30 เดือน เครื่องสำอางที่หมดอายุมากกว่า 30 เดือนนับจากวันที่ผลิต ไม่ได้กำหนดให้แสดงวันหมดอายุที่ฉลากของเครื่องสำอาง แต่สามารถแสดงวันหมดอายุได้
การแสดงวันหมดอายุ
ในส่วนที่พิมพ์ไว้ที่ตัวบรรจุภัณฑ์สามารถใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษได้ แต่ต้องมีข้อความภาษาไทยกำกับ และสื่อความหมายให้เข้าใจ เช่น เดือน ปี ที่หมดอายุ, หมดอายุ ปี เดือน, วันหมดอายุ, วันที่หมดอายุ, หมดอายุวันที่, วัน เดือน ปี ที่หมดอายุ, หมดอายุวัน เดือน ปี, ใช้ก่อนวันที่, ให้ใช้ก่อนวันที่ เป็นต้น และต้องแสดงวันหมดอายุที่ฉลากเครื่องสำอางให้เห็นได้ชัดเจน หรือหากแสดงไว้ในส่วนที่ยากแก่การมองเห็น ก็ต้องสื่อที่ฉลากให้เห็น หรือทราบด้วยว่าแสดงวันหมดอายุไว้ที่ตำแหน่งใดของผลิตภัณฑ์ เช่น วันหมดอายุแสดงที่ใต้ผลิตภัณฑ์ หรือ โปรดดูวันหมดอายุที่ใต้ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
การแสดงเลขที่ใบรับจดแจ้งที่ฉลากของเครื่องสำอาง ให้แสดง “เลขที่ใบรับจดแจ้ง” เป็นเลข 10 หลัก หรือ 13 หลัก ตามที่ได้จดแจ้งไว้ดังนี้
เลขที่ใบรับจดแจ้ง แสดงเป็น
10 หลัก เลขที่ใบรับจดแจ้ง AA – B – CCXXXXX
13 หลัก เลขที่ใบรับจดแจ้ง AA – B – CCXXXXXXXX
(เดิมเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางนั้นมี 10 หลัก และได้มีการเปลี่ยนแปลงเลขที่ใบรับจดแจ้งเป็น 13 หลักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ดังนั้นปัจจุบันจึงสามารถแสดงเลขที่ใบรับจดแจ้งได้ทั้ง 10 หลัก และ 13 หลัก ทั้งนี้ ให้ใช้หลักเกณฑ์การแสดงเลขที่ใบรับจดแจ้งดังกล่าวตามที่ได้รับจดแจ้ง จนกว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยาจะประกาศกำหนดเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น)
เครื่องสำอาง ที่มีภาชนะบรรจุขนาดเล็ก
เครื่องสำอางที่ขายในประเทศที่มีภาชนะบรรจุขนาดเล็ก และมีพื้นที่ในการแสดงฉลากน้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร อย่างน้อยต้องแสดงข้อความในข้อที่ 1 2 3 4 5 ส่วนข้อความอื่นๆ ให้แสดงไว้ที่ใบแทรก เอกสาร หรือคู่มือที่ใช้ประกอบเครื่องสำอางนั้น
เครื่องสำอาง ที่นำเข้าเพื่อขายในประเทศ
เครื่องสำอางที่นำเข้าเพื่อขายในประเทศได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำฉลากภาษาไทยที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อในขณะนำเข้าที่ด่านตรวจสอบเครื่องสำอาง แต่ต้องจัดทำฉลากเป็นภาษาไทยภายใน 30 วัน นับแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจปล่อยให้นำเข้าแล้ว
ทั้งนี้เครื่องสำอางที่นำเข้า เพื่อขายจะจัดทำฉลากภาษาไทย ติดผนึกมาจากต่างประเทศ ก็สามารถทำได้
ฉลากเครื่องสำอาง เฉพาะเพื่อการส่งออกเท่านั้น หรือ เพื่อจำหน่ายในต่างประเทศเท่านั้น
ไม่ได้กำหนดว่าต้องจัดทำ ฉลากเครื่องสำอาง ภาษาไทย ติดผนึกที่ภาชนะบรรจุ แต่ก็สามารถแสดงได้ ให้จัดทำฉลากตามที่ประเทศคู่ค้ากำหนด
“กฎหมายน่ารู้” และเลือกหัวข้อ “ฉลาก” สามารถดาวน์โหลด จากเว็บไซต์กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา
อ้างอิง กฎหมายฉลากเครื่องสำอาง