By - paradee maneegun

ฉลากเครื่องสำอาง

หากใครกำลังอยากเริ่มทำแบรนด์ เครื่องสำอาง อาจกำลังมีคำถามว่า ฉลากเครื่องสำอาง ต้องมีอะไรบ้าง? ตามที่กฎหมายนั้นกำหนด ซึ่งกฎหมายที่จะกล่าวถึง ต่อไปนี้จะเป็นกฎหมายที่เพิ่มขึ้นมา ตามประกาศ คณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง ฉลากของเครื่องสำอาง ที่ประกาศออกมาใน พ.ศ. 2562

นิยามคำว่า “ฉลาก” ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 หมายความว่า รูปรอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ เกี่ยวกับเครื่องสำอาง ซึ่งแสดงไว้ที่เครื่องสำอาง ภาชนะบรรจุ หีบห่อ สอดแทรก หรือรวมไว้กับเครื่องสำอาง ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อ และให้หมายความ รวมถึงเอกสาร หรือคู่มือ สำหรับใช้ประกอบกับเครื่องสำอาง

ฉลากเครื่องสำอาง ที่ขายในประเทศต้องระบุข้อความ ดังนี้

1. ชื่อเครื่องสำอาง และชื่อทางการค้าของเครื่องสำอาง ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่น

2. ประเภท หรือชนิดของเครื่องสำอาง

3. ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้ เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งจะต้องเป็นชื่อตามตำราที่สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา ประกาศกำหนด จะต้องเรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย กรณีสีที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง หรือสารที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าร้อยละ 1 ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ แต่ให้ชื่อสารเหล่านั้นอยู่ถัดจากสารที่มีความเข้มข้นมากกว่าร้อยละ 1

4. วิธีใช้

5. ชื่อ ที่ตั้งของผู้ผลิต กรณีเป็นเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศ ชื่อ ที่ตั้งของผู้นำเข้า ชื่อผู้ผลิต และประเทศที่ผลิต กรณีที่เป็นเครื่องสำอางนำเข้า

6. ปริมาณสุทธิ

7. เลขที่ หรือ อักษรแสดงครั้งที่ผลิต

8. เดือน ปีที่ผลิต หรือ ปี เดือน ที่ผลิต

9. เดือน ปี ที่หมดอายุ หรือ ปี เดือน ที่หมดอายุ

10. คำเตือน เกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่ออนามัยของบุคคล ตามประกาศคณะกรรมการ เครื่องสำอางว่าด้วยเรื่องคำเตือน หรือข้อความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ( ถ้ามี )

11. เลขที่ใบรับจดแจ้ง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา ประกาศกำหนด

ฉลากเครื่องสำอาง

ฉลากเครื่องสำอาง ที่ขายในประเทศต้องใช้ข้อความภาษาไทย และมีขนาดที่สามารถอ่านได้ชัดเจน

อาจมีข้อความอื่น หรือมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ ยกเว้นชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง อาจใช้ภาษาไทย หรือเขียนภาษาไทยทับศัพท์ภาษาอังกฤษ หรือใช้ภาษาอังกฤษ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ (ฉลากเครื่องสำอางต้องยืนพื้นว่าต้องใช้ข้อความภาษาไทยเป็นหลัก และต้องอ่านได้ชัดเจน)

การแสดงสารส่วนประกอบ การแสดงสารที่เป็นอนุภาค “ nano ” ในกรณีที่มีการใช้สารอนุภาค nano

เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ให้ระบุข้อความ “ nano ” ต่อท้ายชื่อสาร เช่น Titanium dioxide ( nano ), Tris-biphenyl triazine ( nano ) เป็นต้น โดยในขั้นตอนการจดแจ้ง ผู้จดแจ้งจะต้องแนบเอกสารสนับสนุนว่า วัตถุดิบดังกล่าว ที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมนั้นมีขนาดอนุภาคเท่ากับ หรือเล็กกว่า 100 นาโนเมตร เช่น Specification, Certificate of analysis เป็นต้น

การแสดง วัน เดือน ปี ที่หมดอายุ

หมายถึง วันหมดอายุ ของเครื่องสำอางที่ยังไม่ได้เปิดใช้เท่านั้น ซึ่งจะขอชี้แจงรายละเอียดการแสดงวันหมดอายุของเครื่องสำอาง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. เครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า ๓๐ เดือน เครื่องสำอางที่มีวันหมดอายุน้อยกว่า 30 เดือนนับจากวันที่ผลิต ต้องแสดงวันหมดอายุที่ฉลากของเครื่องสำอางทุกผลิตภัณฑ์

2. เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมรายการสารดังต่อไปนี้ ต้องแสดงวันหมดอายุที่ฉลากของเครื่องสำอาง ไม่ว่าเครื่องสำอางนั้น จะมีอายุการใช้น้อยกว่า หรือมากกว่า 30 เดือนก็ตาม ได้แก่ เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของ Hydrogen peroxide ,เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่มีส่วนผสมของ Avobenzone

3. เครื่องสำอางที่มีอายุการใช้มากกว่า 30 เดือน เครื่องสำอางที่หมดอายุมากกว่า 30 เดือนนับจากวันที่ผลิต ไม่ได้กำหนดให้แสดงวันหมดอายุที่ฉลากของเครื่องสำอาง แต่สามารถแสดงวันหมดอายุได้

การแสดงวันหมดอายุ

ในส่วนที่พิมพ์ไว้ที่ตัวบรรจุภัณฑ์สามารถใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษได้ แต่ต้องมีข้อความภาษาไทยกำกับ และสื่อความหมายให้เข้าใจ เช่น เดือน ปี ที่หมดอายุ, หมดอายุ ปี เดือน, วันหมดอายุ, วันที่หมดอายุ, หมดอายุวันที่, วัน เดือน ปี ที่หมดอายุ, หมดอายุวัน เดือน ปี, ใช้ก่อนวันที่, ให้ใช้ก่อนวันที่ เป็นต้น และต้องแสดงวันหมดอายุที่ฉลากเครื่องสำอางให้เห็นได้ชัดเจน หรือหากแสดงไว้ในส่วนที่ยากแก่การมองเห็น ก็ต้องสื่อที่ฉลากให้เห็น หรือทราบด้วยว่าแสดงวันหมดอายุไว้ที่ตำแหน่งใดของผลิตภัณฑ์ เช่น วันหมดอายุแสดงที่ใต้ผลิตภัณฑ์ หรือ โปรดดูวันหมดอายุที่ใต้ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

การแสดงเลขที่ใบรับจดแจ้งที่ฉลากของเครื่องสำอาง ให้แสดง “เลขที่ใบรับจดแจ้ง” เป็นเลข 10 หลัก หรือ 13 หลัก ตามที่ได้จดแจ้งไว้ดังนี้

เลขที่ใบรับจดแจ้ง แสดงเป็น

10 หลัก เลขที่ใบรับจดแจ้ง AA – B – CCXXXXX

13 หลัก เลขที่ใบรับจดแจ้ง AA – B – CCXXXXXXXX

(เดิมเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางนั้นมี 10 หลัก และได้มีการเปลี่ยนแปลงเลขที่ใบรับจดแจ้งเป็น 13 หลักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ดังนั้นปัจจุบันจึงสามารถแสดงเลขที่ใบรับจดแจ้งได้ทั้ง 10 หลัก และ 13 หลัก ทั้งนี้ ให้ใช้หลักเกณฑ์การแสดงเลขที่ใบรับจดแจ้งดังกล่าวตามที่ได้รับจดแจ้ง จนกว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยาจะประกาศกำหนดเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น)

เครื่องสำอาง ที่มีภาชนะบรรจุขนาดเล็ก

เครื่องสำอางที่ขายในประเทศที่มีภาชนะบรรจุขนาดเล็ก และมีพื้นที่ในการแสดงฉลากน้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร อย่างน้อยต้องแสดงข้อความในข้อที่ 1 2 3 4 5 ส่วนข้อความอื่นๆ ให้แสดงไว้ที่ใบแทรก เอกสาร หรือคู่มือที่ใช้ประกอบเครื่องสำอางนั้น

เครื่องสำอาง ที่นำเข้าเพื่อขายในประเทศ

เครื่องสำอางที่นำเข้าเพื่อขายในประเทศได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำฉลากภาษาไทยที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อในขณะนำเข้าที่ด่านตรวจสอบเครื่องสำอาง แต่ต้องจัดทำฉลากเป็นภาษาไทยภายใน 30 วัน นับแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจปล่อยให้นำเข้าแล้ว

ทั้งนี้เครื่องสำอางที่นำเข้า เพื่อขายจะจัดทำฉลากภาษาไทย ติดผนึกมาจากต่างประเทศ ก็สามารถทำได้

ฉลากเครื่องสำอาง เฉพาะเพื่อการส่งออกเท่านั้น หรือ เพื่อจำหน่ายในต่างประเทศเท่านั้น

ไม่ได้กำหนดว่าต้องจัดทำ ฉลากเครื่องสำอาง ภาษาไทย ติดผนึกที่ภาชนะบรรจุ แต่ก็สามารถแสดงได้ ให้จัดทำฉลากตามที่ประเทศคู่ค้ากำหนด

“กฎหมายน่ารู้” และเลือกหัวข้อ “ฉลาก” สามารถดาวน์โหลด จากเว็บไซต์กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา

อ้างอิง กฎหมายฉลากเครื่องสำอาง

ใส่ความเห็น

Your email address will not be published.
*
*